วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ที่มา วชช.พังงา

ความเป็นมาวิทยาลัยชุมชนพังงา

ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ใน นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ด้านการศึกษาข้อที่ 4 รายละเอียด คือจัดให้มีวิทยาลัยชุมชนขึ้นโดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา และเพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 43 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยยึดหลักการตามนโยบาย การศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงานจากนโยบายและหลักการจัดตั้งและดำเนินงาน วิทยาลัยชุมชนที่สำคัญใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่มีการสร้างสถานศึกษาใหม่ และให้ประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการตามหลักการกระจายอำนาจ

ดังนั้นการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนจึงเป็นนวัตกรรมทางการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพื่อให้การดำเนินงานมีความมั่นคงและได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ให้ดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนต่อไปได้

วิทยาลัยชุมชนพังงา จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาที่ 509/2548 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2548 แต่งตั้ง นายมานิต วิมุตติสุข ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนพังงา ดำเนินงานครั้งแรกวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2549 และเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนปีการศึกษา 2549 เริ่มแรก ใช้สถานที่ โรงเรียนทับปุดวิทยา ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นที่ตั้ง สำนักงานชั่วคราววิทยาลัยชุมชนพังงา และ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2550 ย้ายไปยังสำนักงานถาวร ตั้งอยู่ ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 20 ไร่ โดยได้รับมอบพื้นที่จากโรงเรียน ทับปุดวิทยา ในปัจจุบันวิทยาลัยชุมชนมีอาคาร 3 อาคาร คือ อาคารวิทยบริการ อาคารอำนวยการ และอาคารปฏิบัติการคอมพิวเตอร์

ปรัชญา
วิทยาลัยชุมชนพังงา พัฒนาคน พัฒนาท้องถิ่น

วิสัยทัศน์

วิทยาลัยชุมชนพังงา เป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ จัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น มุ่งสร้างคนดี มีคุณธรรม นำความรู้ สู่การพัฒนาตนและสังคม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พันธกิจ

1. จัดการศึกษาระดับอนุปริญญาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

2. ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะการเรียนรู้ และทักษะชีวิต

3. บริการวิชาการต่อชุมชน

4. พัฒนาศักยภาพนักศึกษา ให้มีคุณธรรม นำความรู้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามหลัก
เศรษฐกิจพอเพียง

5. มีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมกับชุมชน

หลักการ

1. บริการที่เปิดกว้าง เข้าถึงง่าย หลักสูตรหลากหลาย

2. ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและผนึกกำลังเครือข่ายชุมชน

3. ตอบสนองต่อความต้องการชุมชน

4. ใช้ทรัพยากรของรัฐและเอกชนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กลุ่มเป้าหมาย

1. ประชาชนทั่วไปผู้ต้องการพัฒนาอาชีพ ผู้ต้องการเปลี่ยนงาน ผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ต้องการเข้าเรียนหลักสูตรฝึกอบรม

2. ผู้ที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าโดยไม่จำกัดอายุ ที่ต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรอนุปริญญา

การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอนุปริญญา และหลักสูตรฝึกอบรม

หลักสูตรอนุปริญญา ผู้สมัครเรียนต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเสียค่าหน่วยกิตๆ ละ 25 บาท โดยมีเกณฑ์การจบการศึกษา คือ ต้องเข้าเรียนไม่ต่ำกว่า 90 หน่วยกิต โดยแต่ละหลักสูตรจะเปิดสอนเมื่อมีผู้สมัครเรียนไม่น้อยกว่า 20 คน

หลักสูตรฝึกอบรม ผู้เรียนคือประชาชนทั่วไป โดยผู้ที่ต้องการเข้ารับการเรียนหลักสูตรฝึกอบรมต้องเสียค่าลงทะเบียนเรียน ชั่วโมงละ 5 บาท โดยแต่ละหลักสูตรจะเปิดสอนเมื่อมีผู้สมัครเรียนไม่น้อยกว่า 15 คน

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระบบอุปถัมภ์กับระบบราชการไทย

ธงชัย ใจสายน้ำ

วิทยาลัยชุมชนพังงา


ระบบอุปถัมภ์เป็นระบบความสัมพันธ์ที่ บุคคลสองฝ่ายที่มีสถานภาพทางสังคมไม่เท่าเทียมกัน แต่อยู่ด้วยกันได้เพราะมีลักษณะต่างตอบแทนกันและกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีความเป็นเพื่อนระหว่างกันอยู่ด้วย ซึ่งภายใต้ระบบดังกล่าวจะมีผู้อุปถัมภ์คอยให้คุณให้โทษกับคนที่ติดตามให้การสนับสนุนตน หรือที่เรียกว่าผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ โดยต่างคนได้ประโยชน์จากกันและกัน ในทางสังคมวิทยาแล้ว เว็บเบอร์ (Maximilian Carl Emil Weber) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันได้ให้ความหมายของ ระบบอุปถัมภ์ หรือ ระบบพรรคพวก ว่าหมายถึง การได้รับสิทธิพิเศษจากผู้ใหญ่ หรือญาติมิตรของตน และเป็นระบบที่ตรงข้ามกับ ระบบความชอบธรรมซึ่งนิยมใช้ในปัจจุบัน

ระบบอุปถัมภ์ได้อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนสังคมไทยเป็นการปกครองระบบเจ้าขุนมูลนาย ที่ส่งเสริม สนับสนุนระบบอุปถัมภ์อย่างชัดเจน กล่าวง่ายๆ คือ เอาประโยชน์เพื่อพวกพ้องของตนแต่ฝ่ายเดียว อีกทั้งยังเป็นระบบที่อาจก่อให้เกิดการทำลาย หลักนิติรัฐ (Legal State) หรือ รัฐที่อาศัยกฎหมายเป็นหลักในการปกครองประเทศ เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ บางครั้งอาจจะอ้างอิงโดยหลักคุณธรรม แต่ก็มิใช่อ้างจากระเบียบ หรือหลักกฎหมาย และแม้ในปัจจุบันสังคมไทยจะมีระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม ระบบอุปถัมภ์ก็ยังคงมีให้เห็นในสังคมไทยอยู่ทุกวัน และยังลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนในระบบราชการไทย เช่น การประเมินความดีความชอบ การรับสินบน การฝากฝังลูกหลานเข้าทำงาน ความไม่ซื่อตรงในการออกข้อสอบเพื่อสอบเข้ารับราชการ ฯลฯ (หากกล่าวในที่นี้คงจะเกินหนึ่งหน้ากระดาษเป็นแน่) แม้ว่าระบบราชการไทยมีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ (เช่น คณะกรรมการสภา คณะกรรมการบริหารงาน ฯลฯ) เพื่อถ่วงดุลอำนาจการบริหารงานของผู้บริหารแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายระบบราชการไทยยังต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจจากผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานนั้นอยู่ดี ซึ่งอยากให้ท่านลองคิดดูว่าถ้าผู้บริหารสูงสุด ซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้ง พิจารณาความดีความชอบ โยกย้าย ถอดถอนผู้บริหารระดับต่ำลงมา (เช่น ผู้บริหารในส่วนภูมิภาค หรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ) แล้ว ผู้บริหารในระดับต่ำลงมาจะต้องทำงานเพื่อใคร เพื่อประชาชน? หรือ เพื่อผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน? ซึ่งถ้าหากผู้บริหารสูงสุดมีคุณธรรม หรือมีความชอบทำในการบริหารงานแล้ว แน่นอนว่าผลประโยชน์สูงสุดคงตกแก่ประชาชนเป็นแน่แท้ (หัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก) แต่ในทางกลับกันถ้าผู้บริหารสูงสุดขาดคุณธรรม และความชอบธรรมในการบริหารแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนเช่นกันว่าคงเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงที่สุดต่อประชาชน และระบบราชการไทยเช่นกัน ซึ่งโดยปกติวิสัยแล้วการกระทำของผู้บริหารส่วนใหญ่จะเน้นการรักษาพื้นที่ทางสังคม (ว่ากันตรงๆ คือ เอาหน้า) และเน้นการตอบสนองความต้องการของตนเองหรือเจ้านายเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นผลเสียต่อระบบราชการทั้งสิ้น และยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกทั้งไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอีกด้วยผมคิดว่าหากผู้บริหารมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม การรับสินบน หรือมีความประพฤติโดยมิชอบเพื่อหาประโยชน์ใส่ตน หรืออาจมีความประพฤติโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตนเอง ลูก หลาน ญาติพี่น้อง ลูกศิษย์ เพื่อน ไม่เว้นแต่รุ่นร้องร่วมสถาบัน ฯลฯ แสดงว่าผู้บริหารคนนั้นเป็นผู้บริหารที่ไม่มีระบอบประชาธิปไตย และไม่มีความชอบธรรมในการบริหารงานอย่างยิ่ง ซึ่งหมายความอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นผู้บริหารยุคโบราณนั่นเอง (หากมีผู้บริหารแบบนี้อยู่แสดงว่าเขาเกิดผิดยุคแล้ว และถ้าเกิดในยุคของฮิตเลอร์ก็น่าจะโดนฆ่าตายเหมือนกันครับ)

คำกล่าวนี้หลายคนคงเคยได้ยิน สายโลหิต ศิษย์ข้างเคียง เสบียงหลังบ้าน กราบกรานสอพลอ ล่อไข่แดง แกร่งวิชา ถลามาเอง นี่คือสโลแกนของผู้ที่ต้องการความก้าวหน้าในระบบราชการไทย ผมต้องขอขยายความเพิ่มเติม ดังนี้ สายโลหิตคือ ลูกหลาน ญาติพี่น้องร่วมตระกูล ศิษย์ข้างเคียงคือ เพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่รุ่นน้อง สถาบันเดียวกัน เสบียงหลังบ้าน คือ การติดสินบนให้ตนได้รับการอุปถัมภ์ กราบกรานสอพลอคือ ประจบประแจง เอาใจผู้มีอำนาจ ล่อไข่แดงก็คือ แต่งงานกับลูกของเจ้านาย หรือผู้มีอำนาจ แกร่งวิชา คือ การมีความรู้ความสามารถในหน้าที่การงานของตนเอง ถลามาเอง คือ อาศัยความพยายามและอาศัยโชค (ซึ่งโชคในความหมายของผม คือ การเตรียมพร้อมที่มาพร้อมกับโอกาส) ซึ่งผมคิดว่าผู้ที่มีความก้าวหน้าในระบบราชการโดย แกร่งวิชา และ ถลามาเอง ซึ่งเป็นการอาศัยความสามารถของตนเองน่าจะมีน้อยครับซึ่งจากประสบการณ์ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประสบมาทำให้ผมคิดเช่นนั้น และคิดว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นเป็นเช่นเดียวกัน (นอกจากนี้สังเกตได้ว่าข้อความ แกร่งวิชา และ ถลามาเอง ยังมาเป็นอันดับสุดท้ายอีกด้วย) นั่นแสดงว่า ถ้าสโลแกนข้างต้นไม่มีความจริงคงไม่มีคนกล่าวเช่นนี้ใช่หรือไม่ครับ? (พูดง่ายๆ ประสาชาวบ้าน คือ ถ้าไม่มีมูลสุนัขคงไม่ถ่ายครับ) ท่านผู้อ่านคงให้ตอบตัวเองได้

ดังนั้นการกำจัดระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยให้สิ้นซากโดยพึ่งพาผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ ช่วยประพฤติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ ที่กำลังเติบโตเป็นอนาคตของชาติ อีกทั้งยังอาจจะต้องพึ่งพาผู้บริหารในหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ในระบบราชการช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของคนในองค์กร ผมว่าน่าจะช่วยบรรเทา หรือลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดจากระบบอุปถัมภ์ได้เหมือนกันครับ หรือหากผู้อ่านมีแนวคิดดีๆ ก็เข้ามาร่วมแบ่งปันได้กันได้เหมือนเดิมนะครับ


ร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ Let’s SHARE เพิ่มเติมได้ที่

http://tum-pngcc.blogspot.com/

http://gotoknow.org/blog/tumpngcc/



วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปรองดองด้วยกีฬา

ธวัชชัย จิตวารินทร์

วิทยาลัยชุมชนพังงา

เช้าวันนี้ได้ฟังรายการ มุมมองของเจิมศักดิ์ ผ่านทางสถานีวิทยุคลื่นหนึ่ง เป็นรายการที่ให้ข้อคิดดีๆ หลายๆ อย่าง ซึ่งวันนี้กล่าวถึงเจ้าปลาหมึกพอล ปลาหมึกสองสัญชาติ (เพราะจับได้ในน่านน้ำของประเทศอิตาลีแต่ไปอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ) ที่สามารถทายผลการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010ได้อย่างแม่นยำ จึงทำให้เป็นที่ต้องการตัวของเหล่าเซียนพนันทั้งหลาย แต่น่าเสียดายเพราะเจ้าพอลจะมีชีวิตต่อไปอย่างมากเพียง 1.5 - 2 ปี (โดยปลาหมึกมีอายุประมาณ 4 - 5 ปีเท่านั้น) และเมื่อกล่าวถึงเจ้าพอลและการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 ก็ทำให้ผมนึกถึงชายผิวดำคนสำคัญของประเทศแอฟริกาใต้ คนหนึ่ง คือ เนลสัน เมนเดลา (Nelson Rolihlahla Mandela) ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ อดีตเคยเป็นผู้ถูกคุมขังในเรือนจำนานถึง 27 ปี เนื่องจากความไม่ยุติธรรมของนโยบายแยกคนต่างสีผิว และในระหว่างนั้นเขาไม่เคยย่อท้อโดยศึกษาแบบทางไกลกับมหาวิทยาลัยลอนดอนจนจบปริญญาตรีด้านกฎหมาย เขาถูกปล่อยตัวออกมาในปี พ.ศ.2533 จากนั้นก็ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคเอเอ็นซี ดำเนินการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2536 อีกหนึ่งปีต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ และปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถโดยเน้นนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการเหยียดสีผิว

เนลสัน เมนเดลา มีกลยุทธ์เด็ดกลยุทธ์หนึ่งในการจัดการกับความขัดแย้งของการเหยียดสีผิวอย่างน่าสนใจ คือเขา ใช้กีฬารักบี้เป็นสื่อกลางในการทำให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ เขาได้เดินทางแบบไม่มีกำหนดการมายังสนามแข่งขันรักบี้ เพียงเพื่อมาจับมือและให้กำลังใจกับนักกีฬาทีมชาติของตนอย่างจริงใจ ซึ่งนักกีฬาทีมชาติส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยคนผิวขาว และมีนักกีฬาเพียงคนเดียวเป็นชาวผิวดำ เพียงแค่นี้ก็ทำให้ประชาชนประเทศแอฟริกาใต้ก็เกิดความประทับใจในภาวะผู้นำของเขาอย่างมากที่สุดแล้ว ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวทำให้เห็นว่า เนลสัน เมนเดลา ได้ให้ความสำคัญมากที่สุดกับสิ่งเล็กน้อยที่อยู่รอบตัวที่สามารถก่อให้เกิดพลังอันน่าอัศจรรย์ขึ้นได้ เรื่องราวดังกล่าวได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ เรื่อง Invictus (แปลเป็นภาษาไทยว่าเราจะไม่แพ้ ”) ซึ่งให้ข้อคิดและสาระต่างๆ ดีมาก เหมาะสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย

ดังนั้นถ้าผู้บริหารองค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะนำกลยุทธ์นี้ไปปรับใช้กับองค์กร เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดแรงขับเคลื่อนขององค์กร หรือหน่วยงานต่อไปได้ ผมว่าน่าจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนนะครับ

ในทัศนคติของผมเองก็มีเหตุผลสนับสนุน เนลสัน เมนเดลา ในการใช้กีฬาเป็นสื่อกลางของความปรองดองเช่นกัน ดังนี้

1. เมื่ออ้างทฤษฎีชาตินิยม แล้ว บุคคลที่อยู่ในประเทศชาตินิยม (ประเทศแอฟริกาใต้ก็เป็นประเทศชาตินิยมเหมือนกัน) ย่อมมีอุดมการณ์ที่สร้างและบำรุงรักษาชาติในลักษณะที่เป็นมโนทัศน์ แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มมนุษย์ ดังนั้นการที่ทีมชาติของตนจะลงสนามแข่ง แน่นอนว่าประชาชนในประเทศต้องมีการร่วมแรงร่วมใจ เพื่อส่งแรงเชียร์ทีมของตนเป็นแน่แท้ จึงถือว่าทีมชาติเป็นที่รวมแรงใจของประชาชนจำนวนมากในประเทศได้ เนลสัน เมนเดลา จึงสามารถเปลี่ยนแรงใจที่รวมกันอยู่ที่ทีมชาติ เป็นพลังของความปรองดองได้ โดยให้ความสำคัญกับนักกีฬา ซึ่งเปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

2. ตามหลักวิทยาศาสตร์ มนุษย์จะมีการหลั่งสารชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสาร แห่งความสุข คือ สารเอ็นโดฟินส์ (Endophins) เมื่อร่างกายมีความสุขหรือเกิดความสนุกสนาน เช่น การที่ประชาชนชนร่วมกันเชียร์กีฬา หรือ ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างมีความสุข และสนุกสนาน ซึ่งเมื่อร่างกายหลั่งสารดังกล่าว ก็จะทำให้คนยิ้มแย้ม อารมณ์ดี โดย David, Keith (1977) ผู้แต่งหนังสือ เรื่อง Human Behavior at Work กล่าวว่า มนุษย์ชอบคนยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้กลไกการเกิดปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม (Interaction) เกิดได้ง่ายยิ่งขึ้น

3. จากทฤษฎีจิตวิทยาของสกินเนอร์ (นักจิตวิทยา) พบว่า เมื่อมีการเสริมแรงทางบวก (Positive reinforcement) จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่บุคคลทำสิ่งใด สิ่งหนึ่งตามวาระและโอกาสที่สำคัญได้ เช่นเดียวกับการกระทำของเนลสัน เมนเดลา ซึ่งเป็นการเสริมแรงทางบวก ที่ส่งผลให้ประชาชนเกิดกำลังใจ และเกิดความร่วมมือร่วมใจอย่างเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากีฬาใช้เป็นสื่อกลางที่สามารถก่อให้เกิดความปรองดองของคนในประเทศได้ นั่นคือ ประเทศสเปน ที่มีข่าวความขัดแย้งเพื่อแบ่งแยกดินแดงอย่างหนาหู แต่หลังจากเป็นแชมป์ฟุบอลโลกปี 2010 ข่าวคราวนี้ได้เงียบลง ซึ่งนั่นอาจจะแสดงให้เห็นถึงประชาชนเกิดความร่วมแรงร่วมใจ และเกิดความปรองดองขึ้นภายในประเทศ

ดังนั้นหากองค์กร หรือหน่วยงานใดต้องการให้เกิดความปรองดอง ร่วมมือร่วมใจ กลยุทธ์การใช้กีฬาเป็นสื่อกลางน่าจะเป็นอีกกลยุทธ์ที่ใช้ได้ดีเลยทีเดียว หากนำไปใช้แล้วได้ผลอย่างไร ก็นำมาแลกเปลี่ยนกันที่ http://tum-pngcc.blogspot.com ได้ครับ


ร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ Let’s SHARE เพิ่มเติมได้ที่

http://tum-pngcc.blogspot.com/



วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทางรอดร้านโชห่วยในจังหวัดพังงา

ธวัชชัย จิตวารินทร์

วิทยาลัยชุมชนพังงา



เมื่อสองสามวันก่อนบังเอิญได้แวะไปอุดหนุนร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในจังหวัดพังงา ซึ่งว่าที่เจ้าของร้านในอนาคตกับผมเป็นเพื่อนกัน ได้พูดคุยกันแลกเปลี่ยนกันก็เลยได้ทราบว่ากำลังจะมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เน้นขายสินค้าราคาถูก (Discount store) หรือห้างค้าปลีกรายใหญ่กำลังจะมาตั้งในจังหวัดพังงา ก็เป็นที่น่ายินดีกับชาวพังงา ที่ต่อไปนี้จะได้ซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง และเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของร้านโชห่วยในพังงาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งต้องยอมรับว่าการเข้ามาของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นปัญหาที่น่าหนักใจของร้านขายของชำขนาดเล็กที่มีอยู่ทั่วเมืองพังงาเช่นกันที่ต้องมาแข่งขันกับห้างค้าปลีกรายใหญ่ และปรากฏการณ์นี้ต้องทำให้รายได้ของร้านลดลงอย่างแน่นอน โชห่วยเป็นคำที่มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน สำหรับเรียกร้านขายของชำ สะดวกซื้อ สารพัดสิ่ง ที่มักมีลักษณะอยู่ในตึกแถว หนึ่งห้อง โดยมากเป็นกิจการเล็กๆ กิจการในครัวเรือน สร้างรายรับเล็กๆ น้อยๆ ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนห้างค้าปลีกรายใหญ่เป็นห้างที่มีการขายปลีกสินค้าราคาถูกต่ำกว่าราคาในท้องตลาดทั่วไป และขยายสาขาเร็วมาก ซึ่งถ้านับระยะเวลาที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่มาตั้งในประเทศไทยก็เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปีมาแล้ว ซึ่งห้างค้าปลีกรายใหญ่ห้างแรกที่มาเปิดในประเทศไทย คือ ห้างแม็คโคร สาขาบางกะปิ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีห้างค้าปลีกรายใหญ่อื่นๆ เปิดตามกันมาอย่างมากมาย เช่น บิ๊กซี คาร์ฟูร์ โลตัส จนมีสาขาทั่วประเทศไทย มุมมองผมในฐานะผู้บริโภค คิดว่าเป็นโจทย์ที่ไม่ยากเกินไปสำหรับร้านโชห่วยในการรักษายอดขายไม่ให้ลดลง เนื่องจากการดำเนินธุรกิจแต่ละแบบนั้นย่อมมีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกันออกไป ซึ่งหากมองจุดแข็งของร้านโชห่วยแล้ว คิดว่าการใช้กลยุทธ์การทำลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM (customer relationship management) เป็นสิ่งสำคัญ และร้านโชห่วยสามารถทำได้ดีกว่าห้างค้าปลีกรายใหญ่อย่างแน่นอน เนื่องจากกลไกทางสังคมของไทยที่เป็นตัวช่วยให้ผลักดันให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างลูกค้าในละแวกใกล้ร้านได้ แต่ทั้งนี้เจ้าของร้านจำเป็นต้องมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ใส่ใจบริการและใส่ใจในรายละเอียดของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นการจดจำชื่อลูกค้า ถามถึงสารทุกข์สุขดิบของลูกค้าให้มากกว่าเดิม ผมคิดว่ากลยุทธ์นี้ห้างค้าปลีกรายใหญ่ทำไม่ได้แน่นอนครับ นอกจากนี้ การจัดโปรโมชั่นต่างๆ เช่น บัตรสะสมแต้ม การจับรางวัล ก็ยังเป็นโอกาสของร้านโชห่วยได้ และผมค่อนข้างเห็นด้วยกับโปรโมชั่นการจับรางวัลของร้านโชห่วยครับ เพราะอยากให้ท่านลองนึกภาพห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่มีคนเยอะแยะมากมายที่ไม่รู้ใครเป็นใครที่กำลังขะมักเขม้นเขียนบัตรชิงโชคที่จะหย่อนลงในกล่องใบใหญ่ ซึ่งมีบัตรชิงโชคเกือบเต็ม โดยโอกาสที่จะได้รับของรางวัลของเขาแทบจะไม่มี (ต้องพึ่งดวงอย่างมากที่สุด) กลับกันร้านโชห่วยที่จัดโปรโมชั่นแบบเดียวกัน (มูลค่าของรางวัลอาจจะไม่สูงเท่า) แต่มีคนเพียงไม่กี่คนในละแวกร้านกำลังหย่อนบัตรชิงโชคลงกล่องเหมือนกัน ผมตอบได้เลยว่าผู้บริโภคของร้านโชห่วยย่อมมีโอกาสได้ของรางวัลมากกว่าเห็นๆ นอกจากนี้การจัดร้านให้ดูทันสมัย เป็นหมวดหมู่ และสะอาด น่าจะเป็นอีกทางที่ช่วยให้ร้านโชห่วยของท่านมีทางรอดได้เช่นกัน

ในมุมมองของผมคิดว่าร้านโชห่วยในจังหวัดพังงายังมีทางรอดอย่างแน่นอนครับ เหตุใดผมจึงกล่าวเช่นนี้ อยากให้ท่านลองนึกสภาพตอนขณะกำลังทำผัดผักรวม แล้วน้ำปลาหรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ หมดสิครับ ผักก็อยู่ในกระทะเรียบร้อยแล้ว จะสั่งให้คุณลูกหรือคุณสามีออกไปซื้อที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่หรือครับ? สั่งได้ครับแต่ไม่ไปแน่นอน ดังนั้นตอบได้เลยว่าดังนั้นร้านโชห่วยก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งในการซื้อสินค้าที่ทันต่อความต้องการ (just in time goods) ของผู้บริโภคได้

ส่วนความวิตกกังวลที่มากกว่าความเป็นจริงของเจ้าของร้านโชห่วยเกี่ยวกับการลดลงของรายได้ของนั้น สาเหตุน่าจะเกิดจาก ผลจากรายได้ (Income effect) มากกว่าครับ ซึ่ง รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในสมัยที่ผมยังเป็นอาจารย์สอนที่นั่น) ได้อธิบายแก่ผมอย่างง่ายๆ ว่าผลจากรายได้ คือ เวลาเราถูกหวย หรือยอดขายทะลุเป้า ฯลฯ จะรู้สึกว่าตนเอง รวย ขึ้น เพราะสามารถจับจ่ายซื้อของ หรือทรัพย์สินได้มากขึ้น เกิดความมั่นใจในการใช้เงิน และมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อรายได้ลดลง หรือสูญเสียเงิน จะรู้สึกว่าตนเอง จน ลง จึงเกิดผลของพฤติกรรมที่ตรงกันข้าม ซึ่งกรณีหลังนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลทางลบต่อจิตใจ เกิดความเครียด และความวิตกกังวลไปต่างๆ นานา ว่าร้านโชห่วยคงจะไปไม่รอด ผมว่าอย่าไปวิตกกังวลล่วงหน้าไปเลยครับ เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ หากร้านโชห่วยมีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรืออาจใช้กลยุทธ์การตลาดที่สร้างสรรค์ (Creative marketing) ผมว่าร้านโชห่วยในจังหวัดพังงาไปรอดแบบสบายๆ แน่ ส่วนกระแสกระตุ้นจิตสำนึกผู้บริโภค ผมว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะยุคนี้ เป็นยุคของการแข่งขัน ใครขายถูกกว่าก็ต้องซื้อที่นั่น ใครบริการดีกว่าก็ต้องไปที่นั่น ใครให้หลักประกันภายหลังการซื้อได้ดีกว่าก็ต้องไปที่นั่น อื่นๆ อีกหลายๆ ปัจจัย แต่สาเหตุที่ผมนำเสนอกระทู้นี้ ก็หวังให้พวกเราทุกคน ช่วยกันร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และออกความคิดเห็นกันว่า ร้านโชห่วยจะต้องปรับตัวอย่างไร? ถึงจะอยู่รอด ผมเชื่อว่าถ้าหากเราสามารถรวบรวมความคิดการปรับตัวดีๆ จากเจ้าของร้านโชห่วย ก็น่าจะรวบรวมเสนอเป็นทางออกที่ดีได้นะครับ ถึงแม้บางคนอาจมองว่า "ก็ไม่ปรับตัวเอง...ช่วยอะไรไม่ได้" ก็ไม่เป็นไร แต่ผมก็ไม่อยากให้มีการซ้ำเติม

วันนี้เรามาหาทางช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีกว่านะครับ


ร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ Let’s SHARE เพิ่มเติมได้ที่

http://tum-pngcc.blogspot.com/



วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิทยาลัยชุมชนพังงากับการส่งเสริมอัตลักษณ์ธุรกิจชุมชน

โดย ธวัชชัย จิตวารินทร์

วิทยาลัยชุมชนพังงา



เมื่อกล่าวถึงจังหวัดพังงา ผมว่าคงมีหลายคนที่รู้จักจังหวัดนี้ อาจเพราะด้วยชื่อเสียงด้านความงดงามของชายหาด และน้ำทะเลใสสีคราม รวมถึงเป็นที่ตั้งของหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่มีชื่อเสียงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก หรืออาจจะเป็นเพราะชื่อเสียงของเขาตะปู ที่สร้างความโด่งดังจากการถ่ายทำภาพยนตร์ ในปีพ.ศ. 2517 เรื่อง เจมส์ บอนด์ ในตอนเพชฌฆาตปืนทอง (The Man with the Golden Gun)มาแล้ว ซึ่งบรรยากาศ หรือทิวทัศน์ที่สวยงามเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจในแก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจังหวัดพังงาของเรา แต่ก็มีหลายคนเหมือนกัน ที่ทำหน้างง เมื่อกล่าวถึงจังหวัดพังงา และไม่เคยรู้เลยว่าจังหวัดพังงาเป็นจังหวัดชายทะเลจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นจังหวัดในกลุ่ม 3 จังหวัดอันดามัน ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดพังงา ภูเก็ต และกระบี่ ทั้งยังถือได้ว่าเป็นจังหวัดน้องใหม่มาแรงในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism / Greentourism) ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และสมบูรณ์ จัดได้ว่าเป็นจุดเด่น หรือ อัตลักษณ์ของจังหวัดพังงา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เรื่อง อัตลักษณ์เอสเอ็มอี (SME) ประเทศไทย พบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่โดดเด่นของภาคใต้ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ธุรกิจผลิตอาหารจากสินค้าเกษตร ธุรกิจสินค้าหัตถกรรม ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ธุรกิจประมงและธุรกิจแปรรูปอาหารพื้นเมือง ซึ่งพังงาก็มีธุรกิจทั้งหมดเหล่านี้เป็นฐานสำคัญในการประกอบอาชีพของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในปัจจุบันมีหน่วยงานในจังหวัดพังงาหลายหน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพังงาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย จึงส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวและบริการรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากพอสมควร โดยผู้ประกอบการเหล่านั้นไม่ให้ความสนใจพลวัตด้านอื่นๆ ของจังหวัดพังงา ที่จะส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลขึ้น นั่นอาจเป็นเหตุทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพังงาไม่อาจดำเนินไปอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งวิธีที่จะบริหารจัดการให้ธุรกิจท่องเที่ยวแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศสามารถดำเนินอยู่อย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีการอนุรักษ์ ควบคุม ดูแลรักษาและใช้ทรัพยากรที่มีอย่างพอดีตามศักยภาพ มีการจัดกิจกรรมที่สมดุลและเหมาะสม มีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านการให้ความรู้ความเข้าใจมากกว่ามุ่งเน้นความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ ต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรในท้องถิ่น ในการวางแผนพัฒนา หรือแลกเปลี่ยนความรู้จากเครือข่ายทางสังคม (Social Network Interpretation)

จากข้อมูลของ สสว. เรื่องอัตลักษณ์ของเอสเอ็มอีในภาคใต้นั้น ยังมีอัตลักษณ์อีกหลายด้านที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งในการพัฒนาอาชีพของชุมชนในด้านต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วนซึ่งมีบทบาท หน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกันออกไป เช่น หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการศึกษา ด้านการอนุรักษ์ ฯลฯ ผมเห็นว่าวิทยาลัยชุมชนพังงาเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีศักยภาพ สามารถช่วยผลักดันการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ของจังหวัดพังงาได้ วิทยาลัยชุมชนพังงาอยู่ภายใต้สังกัดคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เหมือนกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ต่างกันที่เป็นหน่วยงานการศึกษาขนาดเล็ก ที่ก่อให้เกิดกลไกสำคัญในการให้การศึกษาแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหาร การวางแผน และการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อที่จะได้เป็นสถานศึกษาของชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง โดยวิทยาลัยชุมชนพังงาเข้าไปสัมผัส คลุกคลี รวมทั้งทำงานเชิงรุกและรับเพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชนอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้ถึงภูมิสังคม และบริบทของชุมชนเป็นอย่างดี ประกอบกับมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยน และยืดหยุ่นได้ตามความต้องการ คือหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของวิทยาลัยชุมชนในด้านการให้บริการทางการศึกษาแก่ชุมชน ซึ่งหากเปรียบวิทยาลัยชุมชนกับกองทัพแล้ววิทยาลัยชุมชนเปรียบเสมือนหน่วยเคลื่อนที่เร็วซึ่งมีความคล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการโจมตีได้ทุกรูปแบบ ดังนั้นโอกาสที่วิทยาลัยชุมชนพังงาจะเสริมสร้าง และผลักดันอัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดพังงาให้เด่นชัดออกมาในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ก็คงไม่ยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ในการระดมทรัพยากรที่จำเป็นในแต่ละด้าน เพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือชุมชนด้วย จากมุมมองของผม ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factor) ของการพัฒนาชุมชนโดยการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในชุมชนนั้น มี 2 ประการ คือ 1. ชุมชน และองค์กรแวดล้อม 2. การส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชน

โดยปกติแล้วภาวะแห่งการพัฒนาใหม่จำเป็นต้องอาศัยฐานการคิดที่เป็นแกนกลาง มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับชุมชน มีชุมชนเป็นฐาน และฐานชุมชนก็ต้องตั้งอยู่บนหลักการพัฒนาที่ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เน้นที่ชุมชนต้องอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศที่ดี และประกอบเข้าเป็นองค์รวมเดียว ดังนั้นการพัฒนาชุมชนโดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้งนั้น จึงต้องใช้หลักคิด การพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมที่ยั่งยืน ผมคิดว่าการพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นให้มีความเจริญนั้นทำได้ไม่ยาก แต่จะทำอย่างไรให้ความเจริญนั้นตั้งอยู่บนความยั่งยืน นี่คือ โจทย์ที่ท้าทายของวิทยาลัยชุมชนพังงา

เมื่อทราบถึงหลักการพัฒนาชุมชน และปัจจัยแห่งความสำเร็จแล้ว วิทยาลัยชุมชนพังงาก็ต้อง เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้เหมาะสมกับ อัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อความเจริญอย่างยั่งยืนบนฐานของความพอเพียง ส่วนแต่ละชุมชนอยากได้หลักสูตรการฝึกอบรมที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ของตนอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่าคนในชุมชนคงให้คำตอบได้ดีที่สุดครับ