วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ที่มา วชช.พังงา

ความเป็นมาวิทยาลัยชุมชนพังงา

ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ใน นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ด้านการศึกษาข้อที่ 4 รายละเอียด คือจัดให้มีวิทยาลัยชุมชนขึ้นโดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา และเพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 43 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยยึดหลักการตามนโยบาย การศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงานจากนโยบายและหลักการจัดตั้งและดำเนินงาน วิทยาลัยชุมชนที่สำคัญใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่มีการสร้างสถานศึกษาใหม่ และให้ประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการตามหลักการกระจายอำนาจ

ดังนั้นการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนจึงเป็นนวัตกรรมทางการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพื่อให้การดำเนินงานมีความมั่นคงและได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ให้ดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนต่อไปได้

วิทยาลัยชุมชนพังงา จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาที่ 509/2548 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2548 แต่งตั้ง นายมานิต วิมุตติสุข ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนพังงา ดำเนินงานครั้งแรกวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2549 และเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนปีการศึกษา 2549 เริ่มแรก ใช้สถานที่ โรงเรียนทับปุดวิทยา ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นที่ตั้ง สำนักงานชั่วคราววิทยาลัยชุมชนพังงา และ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2550 ย้ายไปยังสำนักงานถาวร ตั้งอยู่ ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 20 ไร่ โดยได้รับมอบพื้นที่จากโรงเรียน ทับปุดวิทยา ในปัจจุบันวิทยาลัยชุมชนมีอาคาร 3 อาคาร คือ อาคารวิทยบริการ อาคารอำนวยการ และอาคารปฏิบัติการคอมพิวเตอร์

ปรัชญา
วิทยาลัยชุมชนพังงา พัฒนาคน พัฒนาท้องถิ่น

วิสัยทัศน์

วิทยาลัยชุมชนพังงา เป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ จัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น มุ่งสร้างคนดี มีคุณธรรม นำความรู้ สู่การพัฒนาตนและสังคม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พันธกิจ

1. จัดการศึกษาระดับอนุปริญญาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

2. ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะการเรียนรู้ และทักษะชีวิต

3. บริการวิชาการต่อชุมชน

4. พัฒนาศักยภาพนักศึกษา ให้มีคุณธรรม นำความรู้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามหลัก
เศรษฐกิจพอเพียง

5. มีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมกับชุมชน

หลักการ

1. บริการที่เปิดกว้าง เข้าถึงง่าย หลักสูตรหลากหลาย

2. ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและผนึกกำลังเครือข่ายชุมชน

3. ตอบสนองต่อความต้องการชุมชน

4. ใช้ทรัพยากรของรัฐและเอกชนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กลุ่มเป้าหมาย

1. ประชาชนทั่วไปผู้ต้องการพัฒนาอาชีพ ผู้ต้องการเปลี่ยนงาน ผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ต้องการเข้าเรียนหลักสูตรฝึกอบรม

2. ผู้ที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าโดยไม่จำกัดอายุ ที่ต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรอนุปริญญา

การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอนุปริญญา และหลักสูตรฝึกอบรม

หลักสูตรอนุปริญญา ผู้สมัครเรียนต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเสียค่าหน่วยกิตๆ ละ 25 บาท โดยมีเกณฑ์การจบการศึกษา คือ ต้องเข้าเรียนไม่ต่ำกว่า 90 หน่วยกิต โดยแต่ละหลักสูตรจะเปิดสอนเมื่อมีผู้สมัครเรียนไม่น้อยกว่า 20 คน

หลักสูตรฝึกอบรม ผู้เรียนคือประชาชนทั่วไป โดยผู้ที่ต้องการเข้ารับการเรียนหลักสูตรฝึกอบรมต้องเสียค่าลงทะเบียนเรียน ชั่วโมงละ 5 บาท โดยแต่ละหลักสูตรจะเปิดสอนเมื่อมีผู้สมัครเรียนไม่น้อยกว่า 15 คน