วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทางรอดร้านโชห่วยในจังหวัดพังงา

ธวัชชัย จิตวารินทร์

วิทยาลัยชุมชนพังงา



เมื่อสองสามวันก่อนบังเอิญได้แวะไปอุดหนุนร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในจังหวัดพังงา ซึ่งว่าที่เจ้าของร้านในอนาคตกับผมเป็นเพื่อนกัน ได้พูดคุยกันแลกเปลี่ยนกันก็เลยได้ทราบว่ากำลังจะมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เน้นขายสินค้าราคาถูก (Discount store) หรือห้างค้าปลีกรายใหญ่กำลังจะมาตั้งในจังหวัดพังงา ก็เป็นที่น่ายินดีกับชาวพังงา ที่ต่อไปนี้จะได้ซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง และเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของร้านโชห่วยในพังงาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งต้องยอมรับว่าการเข้ามาของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นปัญหาที่น่าหนักใจของร้านขายของชำขนาดเล็กที่มีอยู่ทั่วเมืองพังงาเช่นกันที่ต้องมาแข่งขันกับห้างค้าปลีกรายใหญ่ และปรากฏการณ์นี้ต้องทำให้รายได้ของร้านลดลงอย่างแน่นอน โชห่วยเป็นคำที่มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน สำหรับเรียกร้านขายของชำ สะดวกซื้อ สารพัดสิ่ง ที่มักมีลักษณะอยู่ในตึกแถว หนึ่งห้อง โดยมากเป็นกิจการเล็กๆ กิจการในครัวเรือน สร้างรายรับเล็กๆ น้อยๆ ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนห้างค้าปลีกรายใหญ่เป็นห้างที่มีการขายปลีกสินค้าราคาถูกต่ำกว่าราคาในท้องตลาดทั่วไป และขยายสาขาเร็วมาก ซึ่งถ้านับระยะเวลาที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่มาตั้งในประเทศไทยก็เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปีมาแล้ว ซึ่งห้างค้าปลีกรายใหญ่ห้างแรกที่มาเปิดในประเทศไทย คือ ห้างแม็คโคร สาขาบางกะปิ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีห้างค้าปลีกรายใหญ่อื่นๆ เปิดตามกันมาอย่างมากมาย เช่น บิ๊กซี คาร์ฟูร์ โลตัส จนมีสาขาทั่วประเทศไทย มุมมองผมในฐานะผู้บริโภค คิดว่าเป็นโจทย์ที่ไม่ยากเกินไปสำหรับร้านโชห่วยในการรักษายอดขายไม่ให้ลดลง เนื่องจากการดำเนินธุรกิจแต่ละแบบนั้นย่อมมีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกันออกไป ซึ่งหากมองจุดแข็งของร้านโชห่วยแล้ว คิดว่าการใช้กลยุทธ์การทำลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM (customer relationship management) เป็นสิ่งสำคัญ และร้านโชห่วยสามารถทำได้ดีกว่าห้างค้าปลีกรายใหญ่อย่างแน่นอน เนื่องจากกลไกทางสังคมของไทยที่เป็นตัวช่วยให้ผลักดันให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างลูกค้าในละแวกใกล้ร้านได้ แต่ทั้งนี้เจ้าของร้านจำเป็นต้องมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ใส่ใจบริการและใส่ใจในรายละเอียดของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นการจดจำชื่อลูกค้า ถามถึงสารทุกข์สุขดิบของลูกค้าให้มากกว่าเดิม ผมคิดว่ากลยุทธ์นี้ห้างค้าปลีกรายใหญ่ทำไม่ได้แน่นอนครับ นอกจากนี้ การจัดโปรโมชั่นต่างๆ เช่น บัตรสะสมแต้ม การจับรางวัล ก็ยังเป็นโอกาสของร้านโชห่วยได้ และผมค่อนข้างเห็นด้วยกับโปรโมชั่นการจับรางวัลของร้านโชห่วยครับ เพราะอยากให้ท่านลองนึกภาพห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่มีคนเยอะแยะมากมายที่ไม่รู้ใครเป็นใครที่กำลังขะมักเขม้นเขียนบัตรชิงโชคที่จะหย่อนลงในกล่องใบใหญ่ ซึ่งมีบัตรชิงโชคเกือบเต็ม โดยโอกาสที่จะได้รับของรางวัลของเขาแทบจะไม่มี (ต้องพึ่งดวงอย่างมากที่สุด) กลับกันร้านโชห่วยที่จัดโปรโมชั่นแบบเดียวกัน (มูลค่าของรางวัลอาจจะไม่สูงเท่า) แต่มีคนเพียงไม่กี่คนในละแวกร้านกำลังหย่อนบัตรชิงโชคลงกล่องเหมือนกัน ผมตอบได้เลยว่าผู้บริโภคของร้านโชห่วยย่อมมีโอกาสได้ของรางวัลมากกว่าเห็นๆ นอกจากนี้การจัดร้านให้ดูทันสมัย เป็นหมวดหมู่ และสะอาด น่าจะเป็นอีกทางที่ช่วยให้ร้านโชห่วยของท่านมีทางรอดได้เช่นกัน

ในมุมมองของผมคิดว่าร้านโชห่วยในจังหวัดพังงายังมีทางรอดอย่างแน่นอนครับ เหตุใดผมจึงกล่าวเช่นนี้ อยากให้ท่านลองนึกสภาพตอนขณะกำลังทำผัดผักรวม แล้วน้ำปลาหรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ หมดสิครับ ผักก็อยู่ในกระทะเรียบร้อยแล้ว จะสั่งให้คุณลูกหรือคุณสามีออกไปซื้อที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่หรือครับ? สั่งได้ครับแต่ไม่ไปแน่นอน ดังนั้นตอบได้เลยว่าดังนั้นร้านโชห่วยก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งในการซื้อสินค้าที่ทันต่อความต้องการ (just in time goods) ของผู้บริโภคได้

ส่วนความวิตกกังวลที่มากกว่าความเป็นจริงของเจ้าของร้านโชห่วยเกี่ยวกับการลดลงของรายได้ของนั้น สาเหตุน่าจะเกิดจาก ผลจากรายได้ (Income effect) มากกว่าครับ ซึ่ง รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในสมัยที่ผมยังเป็นอาจารย์สอนที่นั่น) ได้อธิบายแก่ผมอย่างง่ายๆ ว่าผลจากรายได้ คือ เวลาเราถูกหวย หรือยอดขายทะลุเป้า ฯลฯ จะรู้สึกว่าตนเอง รวย ขึ้น เพราะสามารถจับจ่ายซื้อของ หรือทรัพย์สินได้มากขึ้น เกิดความมั่นใจในการใช้เงิน และมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อรายได้ลดลง หรือสูญเสียเงิน จะรู้สึกว่าตนเอง จน ลง จึงเกิดผลของพฤติกรรมที่ตรงกันข้าม ซึ่งกรณีหลังนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลทางลบต่อจิตใจ เกิดความเครียด และความวิตกกังวลไปต่างๆ นานา ว่าร้านโชห่วยคงจะไปไม่รอด ผมว่าอย่าไปวิตกกังวลล่วงหน้าไปเลยครับ เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ หากร้านโชห่วยมีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรืออาจใช้กลยุทธ์การตลาดที่สร้างสรรค์ (Creative marketing) ผมว่าร้านโชห่วยในจังหวัดพังงาไปรอดแบบสบายๆ แน่ ส่วนกระแสกระตุ้นจิตสำนึกผู้บริโภค ผมว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะยุคนี้ เป็นยุคของการแข่งขัน ใครขายถูกกว่าก็ต้องซื้อที่นั่น ใครบริการดีกว่าก็ต้องไปที่นั่น ใครให้หลักประกันภายหลังการซื้อได้ดีกว่าก็ต้องไปที่นั่น อื่นๆ อีกหลายๆ ปัจจัย แต่สาเหตุที่ผมนำเสนอกระทู้นี้ ก็หวังให้พวกเราทุกคน ช่วยกันร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และออกความคิดเห็นกันว่า ร้านโชห่วยจะต้องปรับตัวอย่างไร? ถึงจะอยู่รอด ผมเชื่อว่าถ้าหากเราสามารถรวบรวมความคิดการปรับตัวดีๆ จากเจ้าของร้านโชห่วย ก็น่าจะรวบรวมเสนอเป็นทางออกที่ดีได้นะครับ ถึงแม้บางคนอาจมองว่า "ก็ไม่ปรับตัวเอง...ช่วยอะไรไม่ได้" ก็ไม่เป็นไร แต่ผมก็ไม่อยากให้มีการซ้ำเติม

วันนี้เรามาหาทางช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีกว่านะครับ


ร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ Let’s SHARE เพิ่มเติมได้ที่

http://tum-pngcc.blogspot.com/



5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ13 กรกฎาคม 2553 เวลา 01:42

    น่าสนใจครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ13 กรกฎาคม 2553 เวลา 01:47

    เห็นด้วยกับบทความข้างต้น แต่ปัจจุบันนี้ พฤติกรรมของคนไทยก็ติดความสบาย ความรู้สึกนิยมอันเป็นสากล ไปเดินเล่นตากแอร์เย้น ฆ่าเวลา รอเวลา หรือรอ... อะไรต่อมิอะไรก็ตามแต่ ซึ่งห้างเหล่านั้น มีพื้นที่มากพอที่จะให้ผู้บริโภคทำเช่นนั้นได้ แต่ถ้าเป็นร้านโชว์ห่วย อาจจะเป็นลักษณะ รีบมา รีบไป ไม่มีพื้นที่ว่างให้ลูกค้า หรือผู้บริโภค ทำอะไรๆ ที่สบายๆ ผ่อนคลาย เย็นๆใจได้ การที่ร้านโชว์ห่วยจะคงอยู่ได้ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ พอควร ซึ่งปัจจัยที่หนีไม่พ้น คือ ทุน งบประมาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่จังหวัดแห่งหนึ่งก่อนที่ห้างจากต่างชาติจะเข้ามา ร้านขายของร้านหนึ่ง (ร้านใหญ่) เขาก็ขายสินค้าต่างๆมากมาย ในราคาถูก และเมื่อห้างต่างชาติหลายยี่ห้อเมาในจังหวัดหนึ่ง ก็คิดว่าร้านแห่งหนึ่งคงจะทรงกับทรุดแน่ๆ แต่แล้วเขาก็พิสูจน์ให้ประจักษ์ว่า เขาบริหารกิจการให้คงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้และขยายมากขึ้นเรื่อยๆ อยากหนึ่งก็ยอมรับว่าเขามีงบประมาณสำรองมากพอในการลงทุน และที่สำคัญ คือ ความกล้าดี กล้าพัฒนาตน และปรับกิจการให้ทันยุค ทันกับการเปลี่ยนแปลง มีทั้งช่วงเวลาลด แลก แจก แถม และ ชิงโชค ชิงรางวัล ด้วยเช่นกัน
    และสำหรับผู้บริโภคทั้งหลาย ถ้าต้องการซื้อของเข้าบ้านเดือนครั้ง พาลูกและครอบครัวพักผ่อนบ้างตามสภาพ เพื่อสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว มีกำลังพอที่จะพาไป ก็พากันไปเถอะ (ความสุขในครอบครัวเล้กๆน้อยๆที่สร้างได้)แต่ถ้าเข้าทุกวันไม่คิดปัจจัยอื่นเลย มันก็น่าคิดนะ เอะอะ อะไรก้ไปห้าง ซื้อของอย่างเดียวก็ไปห้าง ทั้งที่มันก็ไม่ใช่ทางกลับบ้านซะด้วย (พฤติกรรมวัยรุ่นบางคนที่เรียกว่าติดห้าง ติด 7-11)วันไหนไม่ได้ 7-11 นอนไม่หลับ ไม่แน่ต่อไป ไม่ได้เข้าห้างต่างชาติ แห่งนี้ ก็จะนอนไม่หลับเช่นกัน (น่าเป็นห่วงคนเป็นพ่อเป็นแม่ของเด็กๆในจังหวัดพังงาอยู่ไม่น้อย)เพราะห้างต่างชาติเหล่านั้น ส่วนใหญ่มักจะปิด 4-5 ทุ่ม ซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนพังงาสักเท่าไรนัก ที่เพียง 2 ทุ่ม ก็เงียบสงบทั้งเมืองแล้ว หรือนี่เป็นจุดเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนพังงาก็เป็นได้ กลายเป็นเมือง(จังหวัด)ที่มีสีสันในค่ำคืนที่สวยงาม หรือจะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องทางลบขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ ทุกคนในจังหวัดพังงา ต้องร่วมด้วยช่วยกันดูแล... จังหวัดจะคงน่าอยู่ต่อไป
    จาก นุชรี วชชพังงา

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ14 กรกฎาคม 2553 เวลา 23:49

    เห็นด้วยนะ

    ตอบลบ
  4. ก็ดีนะครับที่มีห้างขายสินค้าขนาดใหญ่มาตั้ง ว่างๆจะได้ไปเดินเที่ยว(ไม่ได้ซื้อของ)ถ้าเทียบกับร้านโชว์ห่วย มันก็ดีไปคนละแบบ ที่เคยพูดคุยกับเจ้าของร้านโชว์ห่วยจริงๆ ซึ่งร้านติดกับ 7-11 บอกไว้ว่า ร้านโชว์ห่วยส่วนมากเป็นลูกค้าประจำ การซื้อสินค้าเชื่อไว้ก่อนได้ เขาบอกว่านี่คือจุดแข็ง

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ15 กรกฎาคม 2553 เวลา 06:49

    ขอบคุณสำหรับแนวคิดโชว์ห่วยครับ แม้นศรี

    ตอบลบ

คิดเห็นแบ่งปัน (Let's SHARE)